เกร็ด ความรู้

อริยสัจ 4

18-01-2569  000228

อริยสัจ 4

อริยสัจ หรือจตุราริยสัจ หรืออริยสัจ 4 เป็นหลักคำสอนหนึ่งของพระพุทธเจ้า ในพุทธศาสนา อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยบุคคล หรือความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ

อริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ

      พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่ว่าด้วยหลักความจริงที่เกิดจากพระปัญญาการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า อันเป็นหลักสัมพันธ์แห่งเหตุผลที่ไม่แปรผัน ทำให้ผู้ศึกษาปฏิบัติตามหลัก สามารถก้าวพ้นจากความเป็นปุถุชน ที่หนาด้วยกิเลสสู่ภาวะแห่งอริยบุคคล ที่ประเสริฐสุดด้วยคุณธรรมได้อย่างแท้จริง หลักความจริงที่ว่านี้ พระพุทธองค์ทรงบัญญัติตรัสเรียกว่า อริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

 

1. ทุกข์ (ธรรมที่ควรรู้)

ทุกข์ คือ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ มนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ต่างก็มีความทุกข์ด้วยกันทั้งนั้น ความทุกข์จึงเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทุกขณะ เราจึงไม่ควรประมาทและพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความจริงของทุกข์นั้นๆ ทุกข์คือความจริงข้อแรกในอริยสัจ 4

ความทุกข์ หมายถึงความที่กายและใจทนสภาพบีบคั้นได้ยาก เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดรู้ เป็นผลที่เนื่องมาจากเหตุ ปัญหาของชีวิต พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่ามนุษย์ทุกคนมีทุกข์เหมือนกัน ทั้งทุกข์ขั้นพื้นฐานและทุกข์เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

ทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ และการตาย ส่วนทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน คือ ทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากการประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก ทุกข์ที่เกิดจากไม่ได้ดังใจปรารถนา รวมทั้งทุกข์ที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตด้านต่างๆ อาทิ ความยากจน

 

2. สมุทัย (หลักธรรมที่ควรละ)

สมุทัย คือ ความจริงที่ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งความทุกข์ เพราะความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีสาเหตุเกิดจากอะไรบางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ โดยไม่มีเหตุ สมุทัยคือความจริงข้อที่สองในอริยสัจ 4

สมุทัย หมายถึงเหตุที่เกิดทุกข์ คือ กิเลสตัณหาที่กระตุ้นจิตใจให้ส่ายแส่หาอารมณ์ที่ปรารถนา อยากได้ อยากมี อยากเป็น และอยากพ้นไปจากภาวะไม่ปรารถนา เป็นเหตุแห่งทุกข์ที่ต้องละ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์ทั้งหมดซึ่งเป็นปัญหาของชีวิต ล้วนมีเหตุให้เกิดเหตุนั้น คือ ตัณหา อันได้แก่ความอยากได้ต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วยความยึดมั่น

 

3. นิโรธ (หลักธรรมที่ทำให้บรรลุ)

นิโรธ คือ ความดับทุกข์หรือดับปัญหาต่างๆ พุทธศาสนามีหลักคำสอนเกี่ยวกับเรื่องความสุขมากมาย จุดหมายสูงสุด คือ นิพพาน เป็นบรมสุขที่สูงสุด นิโรธคือความจริงข้อที่สามในอริยสัจ 4

นิโรธ หมายถึงความดับทุกข์ คือ ภาวะที่เป็นผลจากการดับตัณหาและสามารถพ้นจากทุกข์ได้เด็ดขาด เป็นภาวะที่ต้องทำให้ประจักษ์แจ้ง พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ก็เพื่อให้ทราบว่า ทุกข์คือปัญหาของชีวิตทั้งหมดที่สามารถแก้ไขได้นั้น ต้องแก้ไขตามทางหรือวิธีแก้

 

4. มรรค (หลักธรรมที่ควรเจริญ หรือทำให้เกิดขึ้น)

   มรรค คือ ข้อปฏิบัติที่ทำให้พ้นจากความทุกข์หรือปัญหาต่างๆ ข้อปฏิบัติให้ลุถึงความดับทุกข์ ซึ่งมีองค์ประกอบ 8 ประการ อันเป็นข้อปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างหรือทางดำเนินชีวิตที่ดีเลิศ จัดเป็นเหตุที่ควรเจริญ คือ ลงมือปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงนิโรธ โดยสรุปเป็นหลักแห่งการศึกษาปฏิบัติสำคัญได้ 3 ประการ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา มรรคคือความจริงข้อสุดท้ายในอริยสัจ 4 ประการ

มรรค หมายถึงหนทางสู่การดับทุกข์ มีด้วยกันทั้งหมด 8 ประการคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ

 

กิจในอริยสัจ 4

กิจในอริยสัจ คือสิ่งที่ต้องทำต่ออริยสัจ 4 แต่ละข้อ ได้แก่

  • ปริญญา – ทุกข์ ควรรู้ คือการทำความเข้าใจปัญหาหรือสภาวะที่เป็นทุกข์อย่างตรงไปตรงมาตามความเป็นจริง เป็นการเผชิญหน้ากับปัญหา
  • ปหานะ – สมุทัย ควรละ คือการกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ เป็นการแก้ปัญหาที่เหตุต้นตอ
  • สัจฉิกิริยา – นิโรธ ควรทำให้แจ้ง คือการเข้าถึงภาวะดับทุกข์ หมายถึงภาวะที่ไร้ปัญหาซึ่งเป็นจุดมุ่งหมาย
  • ภาวนา – มรรค ควรเจริญ คือการฝึกอบรมปฏิบัติตามทางเพื่อให้ถึงความดับแห่งทุกข์ หมายถึงวิธีการหรือทางที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ไร้ปัญหา

กิจทั้งสี่นี้จะต้องปฏิบัติให้ตรงกับมรรคแต่ละข้อให้ถูกต้อง การรู้จักกิจในอริยสัจนี้เรียกว่ากิจญาณ

กิจญาณเป็นส่วนหนึ่งของญาณ 3 หรือญาณทัสสนะ (สัจญาณ, กิจญาณ, กตญาณ) ซึ่งหมายถึงการหยั่งรู้ครบสามรอบ ญาณทั้งสามเมื่อเข้าคู่กับกิจในอริยสัจทั้งสี่จึงได้เป็นญาณทัสนะมีอาการ 12 ดังนี้

สัจญาณ หยั่งรู้ความจริงสี่ประการว่า

  • นี่คือทุกข์
  • นี่คือเหตุแห่งทุกข์
  • นี่คือความดับทุกข์
  • นี่คือทางแห่งความดับทุกข์

กิจญาณ หยั่งรู้หน้าที่ต่ออริยสัจว่า

  • ทุกข์ควรรู้
  • เหตุแห่งทุกข์ควรละ
  • ความดับทุกข์ควรทำให้ประจักษ์แจ้ง
  • ทางแห่งความดับทุกข์ควรฝึกหัดให้เจริญขึ้น

กตญาณ หยั่งรู้ว่าได้ทำกิจที่ควรทำได้เสร็จสิ้นแล้ว

  • ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว
  • เหตุแห่งทุกข์ได้ละแล้ว
  • ความดับทุกข์ได้ประจักษ์แจ้งแล้ว
  • ทางแห่งความดับทุกข์ได้ปฏิบัติแล้ว

อริยสัจทั้ง 4 ประการนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า สามุกกังสิกเทศนา หมายถึง พระธรรมเทศนาที่พระพุทธองค์ทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่ต้องปรารภคำถามหรือการทูลขอร้องของผู้ฟังอย่างการแสดงธรรมในเรื่องอื่นๆ

อริยสัจ 4 ประการ เป็นวิธีการแห่งปัญญา ดำเนินการแก้ปัญหาตามเหตุผล ตามเหตุปัจจัย คือ การแก้ปัญหาของบุคคลด้วยปัญญาของตัวบุคคลนั้นเอง

เป็นสัจธรรมความจริงที่เกี่ยวกับชีวิตของคนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใด อยู่ในเพศหรือภาวะใด จะต้องประสบด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อคุณรู้แล้วว่าอริยสัจ 4 คืออะไร มีประการอะไรบ้าง พร้อมถึงความสำคัญของแต่ละประการแล้ว คุณก็สามารถที่จะปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าได้ เพื่อผลบุญของตัวคุณเอง

แหล่งที่มาข้อมูล