เกร็ด ความรู้

สัปปุริสธรรม 7

11-02-2566  000441

สัปปุริสธรรม 7 หมายถึง ธรรม 7 ประการ ของสัตบุรุษที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คือ ความเป็นคนดีที่สมบูรณ์ เป็นธรรมที่เหมาะสมต่อการเป็นผู้นำ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าคน หรือ ผู้นำที่จะต้องเป็นผู้รู้จักเหตุผล รู้จักตัวเอง และผู้อื่น รู้จักกาลเทศะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการรู้จักนิสัยความต้องการ ความสามารถของผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อจะได้เลือกใช้คนให้ถูกกับงานหรือใช้คนให้เหมาะสมกับงาน (มักใช้คู่กับ พละ 4 ประการ) สัปปุริสธรรม เป็นคุณธรรมหรือคุณสมบัติของคนดี 7 ประการ ที่เป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติเป็นคนดี เป็นผู้ควรแก่การยกย่องนับถือเป็นคนที่สามารถให้การแนะนำในการดำเนินชีวิตที่ถูกด้วยต้องความปรารถนาดี

สัปปุริสธรรม 7 ประการ
คุณธรรม คือ คุณงามความดี เป็นตัวคอยกำหนดให้คนประพฤติปฏิบัติดี หลักธรรมด้วยธรรม 7 ประการ ของสัปปุริสธรรม ซึ่งทุกคนสามารถนำมาประยุกต์ใช้ และถือปฏิบัติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าต้องปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา สมควรต้องกระทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคนอื่น และจะต้องบังคับใจตนเองให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งจะช่วยส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน ประกอบด้วยหลักธรรมที่ 7 ประการ คือ

1. ธัมมัญญุตา แห่งสัปปุริสธรรม 7 คือ การรู้จักเหตุ
พระธรรมปิฎก ให้ความหมายของการรู้จักเหตุในเชิงที่ว่า คือ การรู้จัก และเข้าใจในหลักการ ระเบียบ และกฎเกณฑ์ของสิ่งต่างๆ ในสังคมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต โดยรู้จักว่าตนจะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่มีอยู่อย่างไร สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำภายใต้เหตุ และผลอันถูกต้อง

วันทนา เมืองจันทร์ ให้ความหมายของการรู้จักเหตุในเชิงที่ว่า ผู้นำต้องรู้คิด วิเคราะห์ในบทบาทหน้าที่ที่ตนมี พึงทำการใด พึงรับผิดชอบอย่างไร เพื่อให้กิจการงานบรรลุถึงผลสำเร็จ

ตัวอย่างการรู้จักเหตุ
– รู้จักว่า สิ่งที่ต้องทำมีวิธีการหรือกระบวนการอย่างไร
– รู้จักว่า เรื่องนั้นๆมีที่มาที่ไปอย่างไร
– รู้จักว่า สิ่งนั้นๆมีความสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกันอย่างไร
– รู้จักว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำมีสาเหตุมาจากอะไร
– ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ที่รู้จักวิเคราะห์หาเหตุของสถานการณ์ และมีความรับผิดชอบในขณะปฏิบัติงาน เป็นการวางแผนการดำเนินงาน ย่อมทำให้การทำหน้าที่บรรลุผลสำเร็จ

2. อัตถัญญุตา แห่งสัปปุริสธรรม 7 คือ การรู้จักผล
พระธรรมกิตติวงศ์ ให้ความหมายของการรู้จักผลในเชิงที่ว่า คือ การเป็นผู้รู้จักผลหรือประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำ สามารถรู้ถึงความมุ่งหมายของธรรมแต่ละอย่างได้ชัดเจน เช่น รู้ว่าประพฤติตามธรรมข้อนี้จะได้รับผลอย่างนี้ และรู้จักที่จะแสวงหาประโยชน์ให้แก่ตนเอง และผู้อื่น เพราะเห็นด้วยปัญญาว่าเกิดผลดีจากการปฏิบัติ

วันทนา เมืองจันทร์ ให้ความหมายของการรู้จักผลในเชิงที่ว่า ผู้นำต้องยึดเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ สามารถวิเคราะห์ผลที่จะได้รับจากการดำเนินงานต่างๆ อย่างถูกต้อง รู้จักและเข้าใจวัตถุประสงค์ของเป้าหมายของหลักสูตร

ตัวอย่างการรู้จักผล
– รู้จักว่า เมื่อทำสิ่งนั้นจะเกิดผลดีหรือผลเสีย
– รู้จักว่า เมื่อทำสิ่งนั้นจะเกิดผลดีแก่ใคร ผลเสียแก่ใคร
– รู้จักว่า เมื่อทำสิ่งนั้นจะเกิดผลดีหรือผลเสียมากน้อยเพียงใด
– รู้จักว่า จะทำสิ่งใดจะต้องมีเป้าหมาย
– ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ที่รู้จักพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบเสียก่อนจะลงมือปฏิบัติ ย่อมเข้าใจถึงผลทั้งหลายที่มีมาแต่เหตุ การกระทำที่รู้จักความหมาย และความมุ่งหมายของหลักการในการปฏิบัติงาน รู้จัก และเข้าใจวัตถุประสงค์ของเป้าหมายในกิจการนั้น ย่อมสามารถวิเคราะห์ผลที่จะได้รับการดำเนินงานต่างๆ อย่างถูกต้อง

3. อัตตัญญุตา แห่งสัปปุริสธรรม 7 คือ การรู้จักตน
พระธรรมกิตติวงศ์ ให้ความหมายของการรู้จักตนเองในเชิงที่ว่า คือ ความรู้จักประมาณตนในเรื่องต่างๆ ทั้งฐานะทางการเงิน และความเป็นอยู่ ฐานะหรือตำแหน่งในหน้าที่การงาน รวมไปถึงรู้จักสภาพความคิด และจิตใจของตน เมื่อรู้ว่าตนมีกำลัง มีความคิดอย่างไร มีอุปนิสัยอย่างไร เมื่อนั้น ย่อมที่จะสามารถวางตัวหรือปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมในสังคม

วันทนา เมืองจันทร์ ให้ความหมายของการรู้จักตนเองในเชิงที่ว่า คือ ผู้นำต้องวิเคราะห์ตนเองได้ว่า โดยฐานะ ภาวะกำลัง ความรู้ความถนัด ความสามารถ และคุณธรรมมีเท่าใด เพื่อจะได้พัฒนาตนแก้ไขปรับปรุงตน เป็นการเตรียมตัวให้สอดคล้องกับงานที่จะต้องปฏิบัติ

ตัวอย่างการรู้จักตน
– รู้จักว่า ตนมีความสามารถอย่างไร เก่งด้านใด ไม่เก่งด้านใด
– รู้จักว่า ตนมีนิสัยอย่างไร
– รู้จักว่า ตนชอบหรือไม่ชอบอะไร
– รู้จักว่า ตนมีตำแหน่งหน้าที่ในการงานอย่างไร
– ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ที่รู้จักตนเองจะสามารถวิเคราะห์ตนเองได้อย่างถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแล้วประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสม รู้จักแก้ไขปรับปรุงให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์อันจะเกิดผลดีต่องานในหน้าที่

4. มัตตัญญุตา แห่งสัปปุริสธรรม 7 คือ การรู้จักประมาณ
พระธรรมกิตติวงศ์ ให้ความหมายของการรู้จักประมาณในเชิงที่ว่า คือ การเป็นคนรู้จักความพอดี หรือ ความพอเพียงในทุกๆด้าน ทั้งความพอดีในตน ความพอเพียงในชีวิต รู้จักความพอดีในการพูด พอดีในการทำงาน พอดีในการหาทรัพย์ และพอดีในการจ่ายทรัพย์ ด้วยการรู้จักประมาณกำลังตนเอง

วันทนา เมืองจันทร์ ให้ความหมายของการรู้จักประมาณในเชิงที่ว่า คือ ผู้นำต้องรู้จักความพอเหมาะพอดี ในการพูด รู้จักประมาณในการบริหารงบประมาณ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใต้บังคับบัญชา โดยมุ่งพัฒนาประสิทธิภาพของการงาน และประโยชน์อันที่จะเกิดแก่ส่วนรวม

ตัวอย่างการรู้จักประมาณ
– รู้จักประมาณตนว่าอยู่ตำแหน่งใดเมื่อเทียบกับผู้อื่นที่ตำแหน่งสูงกว่าที่ควรนอบน้อมให้ความเคารพ
– รู้จักประมาณกำลังทรัพย์ของตนในการซื้อสิ่งของ
– รู้จักประมาณกำลังตนเองขณะทำงาน
– รู้จักประมาณประโยชน์แก่ตนในปริมาณที่พอเหมาะ
– ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ที่รู้จักความพอเหมาะพอดีในการปฏิบัติงาน ย่อมทำให้กิจการงานเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่วางเอาไว้ ทั้งนี้ พึงใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาประยุกต์ใช้ยิ่งทำให้เกิดความเข้าใจ และปฏิบัติได้ง่ายขึ้น

รู้จักประมาณ

5. กาลัญญุตา แห่งสัปปุริสธรรม 7 คือ การรู้จักเวลา
พระธรรมปิฎก ให้ความหมายของการรู้จักเวลาในเชิงที่ว่า คือ การเข้าใจในกาลเวลาอันสมควร และระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการทำกิจอันใดๆ และพึงใช้กาลเวลานั้นให้เหมาะสม เช่น รู้ว่าเวลาไหนควร เวลาไหนไม่ควรทำ รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร อะไรควรทำก่อน อะไรควรทำหลัง ด้วยการจัดลำดับของงาน และเวลาให้สัมพันธ์กัน รวมถึงรู้จักประมาณเวลาขณะทำสิ่งๆนั้นให้เหมาะสม

พระธรรมกิตติวงศ์ ให้ความหมายของการรู้จักเวลาในเชิงที่ว่า คือ ผู้นำต้องรู้จักคุณค่าของกาลเวลา รู้ว่าเวลาใดทำ และเวลาใดควรหยุด รู้ว่าเวลานี้ควรทำอะไร ไม่ควรทำอะไร พร้อมกับรู้จักประมาณเวลาที่ใช้ขณะทำงานให้มีอย่างเหมาะสม ผู้ที่รู้จักกาลเวลานี้ ย่อมเป็นคนตรงเวลา และเป็นคนที่รู้คุณค่าของเวลา สามารถบริหารกิจการงานให้รุ่งเรืองต่อไปได้ด้วยดี

วันทนา เมืองจันทร์ ให้ความหมายของการรู้จักเวลาในเชิงที่ว่า คือ การรู้จักกาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่ต้องใช้ในการวางแผน การเตรียมการ หรือการกิจการนั้นๆ

ตัวอย่างการรู้จักกาลเวลา
– รู้จักเวลาเข้างาน เวลาเลิกงาน
– รู้จักงานใดทำก่อน งานใดทำหลัง
– รู้จักเวลาอ่านหนังสือ เวลาเข้านอน
– รู้จักเวลาพูด เวลาใดไม่ควรพูด
– ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ที่เป็นคนรู้คุณค่าของเวลา รู้จักลำดับเวลาความสำคัญของงานที่สัมพันธ์กับเวลา ว่าควรทำหรือควรจะพักผ่อน ว่าควรทำอันใดก่อนหลัง เมื่อถึงเวลาทำงานควรทำงานทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ

รู้เวลา

6. ปริสัญญุตา แห่งสัปปุริสธรรม 7 คือ การรู้จักชุมชน
พระธรรมกิตติวงศ์ ให้ความหมายของการรู้จักชุมชนในเชิงที่ว่า คือ การเป็นผู้รู้จักชุมชน ถิ่นอาศัย หรือสังคมที่ตนอาศัยอยู่ รวมถึงรู้จักว่าชุมชนเหล่านั้นมีความต้องการอะไร มีความเห็นหรือข้อตกลงอย่างไร เมื่อทราบเช่นนั้นแล้ว ย่อมทำให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างมีความสุข และเกิดความร่วมมือจากชุมชนอย่างแท้จริง

วันทนา เมืองจันทร์ ให้ความหมายของการรู้จักชุมชนในเชิงที่ว่า คือ ผู้นำต้องรู้จักถิ่น การปฏิบัติในถิ่นที่เป็นชุมชน ผู้นำควรจะต้องรู้ว่าชุมชนที่ตั้งอยู่นั้นมีระเบียบแบบแผน มีวัฒนธรรมประเพณีอย่างไร ผู้นำควรเข้าไปสอบถามถึงความต้องการ ซึ่งจะทำให้ทราบว่า ควรจะสงเคราะห์อย่างไร ควรบำเพ็ญประโยชน์อย่างไร

ดังนั้น ผู้ที่รู้จักปรับตัวให้เข้ากับชุมชน และเข้าใจในสภาพของชุมชนในด้านระเบียบวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณีโดยการปรับปรุงตนเองให้เหมาะสมกับชุนชนนั้น ๆ

ตัวอย่างการรู้จักชุมชน
– รู้จักว่า ชุมชนมีกฎเกณฑ์หรือข้อตกลงร่วมกันอย่างไร
– รู้จักว่า ชุมชนมีขนบธรรมเนียม และประเพณีอย่างไร
– รู้จักว่า ชุมชนมีความขาดแคลนในด้านใด
– รู้จักว่า ชุมชนมีความต้องการอย่างไร
– ฯลฯ

รู้จักชุมชน

7. ปุคคโลปรปรัญญุตา แห่งสัปปุริสธรรม 7 คือ การรู้จักบุคคล
พระธรรมกิตติวงศ์ ให้ความหมายของการรู้จักบุคคลในเชิงที่ว่า คือ การเป็นผู้รู้จักเลือกคบคน ใครควรคบหรือไม่ควรคบ และรู้จักว่าคนแต่ละคนมีอุปนิสัยใจคอที่แตกต่างกัน มีคุณธรรมต่างกัน มีความประพฤติต่างกัน มีหน้าที่การงานต่างกัน ดังนั้น จึงควรรู้จักเลือกคบหาคนที่ควรคบ ทำให้ได้คนดี คนทำงานเก่ง และเหมาะสมกับงาน

วันทนา เมืองจันทร์ ให้ความหมายของการรู้จักบุคคลในเชิงที่ว่า คือ ผู้นำต้องรู้จัก และเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล เนื่องจากผู้นำนั้นจะต้องทำงานร่วมกับบุคคลหลายฝ่าย โดยส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานในรูปคณะกรรมการ ผู้นำจะต้องรู้จัก และเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคลว่าแต่ละบุคคลมีอัธยาศัย ความสามารถ และคุณธรรม จึงจะสามารถปฏิบัติต่อบุคคลอื่นสัมพันธ์เกี่ยวข้องจะให้เกียรติยกย่องตามสมควรแห่งสถานภาพ

ตัวอย่างการรู้จักคน
– รู้จักว่า คนนั้นมีนิสัยอย่างไร
– รู้จักว่า คนนั้นมีประวัติเสื่อมเสียหรือไม่
– รู้จักว่า คนนั้นมีความสามารถอย่างไร
– รู้จักว่า คนนั้นไม่เก่งในด้านใด
– ฯลฯ

ดังนั้น ผู้ที่รู้จักบุคคล และเข้าใจความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยรู้จักเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับงานเพื่อให้เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติงานในสถานศึกษา

รู้จักคน

สัปปุริสธรรม 7 ประการ นอกจากจะทำให้ผู้นำหรือผู้ปฏิบัติงานสามารถบริหารงานได้ดีแล้ว ยังเป็นแนวทางในการปฎิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้สามารถรักษาความเป็นมนุษย์ของตนไว้ได้ รวมถึงคุณสมบัติของคนดีที่สมบูรณ์ คือ เป็นคนดี คนฉลาด และเหมาะสมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

เพิ่มเติมจาก : พระมหาสมควร (2550)อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ(1)

เอกสารอ้างอิง
2